สวัสดีค่ะ วันนี้บัวหลวงขอแชร์ จะมานำสาระความรู้และเคล็ดลับเกี่ยวกับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กๆกันนะคะ โดยวันนี้จะเป็นเรื่องReflective Learning ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของBLS Moral Model นั่นเองค่ะ
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับความหมายของReflective Learning กันก่อนนะคะ คำว่าRefletive ก็คือคำว่า Refletion หมายถึง การสะท้อน ทุกท่านลองนึกถึงเวลาที่เราส่องกระจกดูนะคะ เราจะมองไม่เห็นสิ่งที่ผิดปกติหรือสิ่งแปลกปลอมที่อยู่บนใบหน้าเราถ้าหากเราไม่ส่องกระจก ใช่แล้วค่ะ...มันก็เหมือนกับเราจะไม่รู้เห็นเลยว่าข้างในตัวเรานั้นกำลังเป็นอย่างไร ความคิดในใจของเรากำลังไปในทิศทางไหนอยู่ ดังนั้นเราต้องสะท้อนมันออกมาค่ะ
แล้วเราจะสะท้อนความคิดออกมาได้ยังไงกันนะ?
คราวนี้บัวหลวงจะขอนำกระบวนการของการสะท้อนความคิดของ กิบส์ (Gibbs, 2000) ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนดังนี้ค่ะ
1.การบรรยาย (Description) เป็นการบรรยายลักษณะหรือรายละเอียด ของเหตุการณ์/สถานการณ์ ตัวอย่างการตั้งคำถาม
เกิดอะไรขึ้น?
เกิดขึ้นเมื่อไหร่?
เกิดขึ้นที่ไหน?
บุคคลที่เกี่ยวข้อง?
เราทำอย่างไรกับสถานการณ์?
คนอื่นทำอย่างไรกับสถานการณ์?
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น?
การบรรยายจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการคิดวิเคราะห์ทั้งจากตัวเองและคนอื่นว่าแต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกันนั่นเองค่ะ
2.ความรู้สึก (Feeling) เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้สึกที่เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์จากขั้นตอนแรก บางคนอาจรู้สึกสงสาร บางคนอาจรู้สึกกลัว บางคนอาจรู้สึกท้าทาย
ตัวอย่างการตั้งคำถาม
ความรู้สึกแรกที่เจอสถานการณ์?
ความรู้สึกระหว่างอยู่ในสถานการณ์?
ความรู้สึกหลังสถานการณ์นั้นผ่านไป?
คิดว่าคนอื่นรู้สึกยังไงกับสถานการณ์?
ซึ่งการบอกถึงความรู้สึกอาจเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กๆบางคน ดังนั้นวิธีนี้ควรที่จะจับคู่หรือจับกลุ่มและแลกเปลี่ยน พูดคุยกัน จะทำให้เด็กเปิดใจกว้างและแบ่งปันความรู้สึกสู่เพื่อนๆได้ไม่ยากค่ะ
3.การประเมิน (Evaluation) เป็นประเมินดูว่าสถานการณ์ในขั้นตอนแรกนั้นดีหรือไม่ดี โดยจะประเมินได้จากประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองค่ะ
ตัวอย่างการตั้งคำถาม
มีสิ่งดีๆอะไรเกิดขึ้นบ้างในสถานการณ์?
ทำไมถึงดี?
มีสิ่งไม่ดีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสถานการณ์?
ทำไมถึงไม่ดี?
คุณช่วยอะไรได้บ้าง?
คนอื่นช่วยอะไรบ้าง?
การประเมินสถานการณ์โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ไม่ดี จะยิ่งช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากขึ้นค่ะ
4. การวิเคราะห์ (Analysis) ขั้นตอนนี้จะเป็นการให้ผู้เรียนวิเคราะห์ว่าได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์ การวิเคราะห์นี้จะกลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์ตามข้อ3เช่นเดียวกันค่ะ บางคนอาจเรียนรู้ว่าเราจะแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างไร รวมไปถึงการได้เรียนรู้จากความผิดพลาดด้วยค่ะ
5. การสรุป (Conclusions) เป็นการสรุปรวบยอดจากการวิเคราะห์ โดยผู้เรียนต้องใช้เหตุผลมาสรุปร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาในต่อๆไปค่ะ
ตัวอย่างการตั้งคำถาม
เราจะมีวิธีแก้ไขที่ต่างจากเดิมอย่างไร ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก?
ทักษะอะไรที่เราคิดว่าจำเป็น เพื่อไว้ใช้แก้ไขสถานการณ์?
6. การวางแผนปฏิบัติในอนาคต (Action plans) การวางแผนนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติในสถานการณ์ใหม่ซึ่งก็ล้วนมาจากขั้นตอนที่5นั่นเองค่ะ และขั้นตอนนี้ผู้เรียนสามารถวางแพลนเอาไว้ได้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะต้องทำแบบนี้ในสถานการณ์แบบนี้ ก็ได้ค่ะหรือผู้เรียนสามารถปรับเปลี่ยนการแก้ไขสถานการณ์ได้เองจากการทำสเต็ปทั้ง1-5 ของกิบส์นั่นเองค่ะ
การเรียนการสอนที่จะส่งเสริมให้มีการสะท้อนคิดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
การเขียนบันทึก (Journal Writing)
การสนทนา (Dialogue)
การวิเคราะห์อุบัติการณ์ (Incident Analysis)
การอ่านงานเขียนอย่างพินิจพิเคราะห์ (Reading With Reflection)
การเขียนบัตรคำ (Talking Cards/ Index Cards)
การเขียนแผนผังความคิด (Reflection Mapping)
การวิเคราะห์กระบวนการตัดสินใจ (Decision-Making Analysis)
การสนทนาโต๊ะกลม (Reflection Roundtables)
กระบวนการกลุ่มแบบหมวกหกใบ (Six Hats)
ประโยชน์ของการสะท้อนความคิด
สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เกิดความระมัดระวังในการกระทำต่างๆมากขึ้น
เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกแนวทาง
การประยุกต์ใช้กับโรงเรียนคุณธรรม
ผู้สอนทุกท่านสามารถนำRefletive Learning ไปปรับใช้ให้เกี่ยวข้องกับคุณธรรมและจริยธรรมได้ค่ะ โดยอาจมีกิจกรรมยกตัวอย่างสถานการณ์ต่างๆและให้นักเรียนลองสะท้อนความคิดตาม6ขั้นตอนข้างต้นก็ได้นะคะ บัวหลวงเชื่อว่าในอนาคตเด็กๆจะสามารถคิดและตัดสินใจไปในทางที่ถูกต้องได้ด้วยตัวเองผ่านการRefletive Learning นั่นเองค่ะ
Comments